
แบบสำรวจระดับความพร้อมและวุฒิภาวะขององค์กรในการพัฒนาไปสู่รัฐบาลดิจิทัล
(Digital Government Maturity Domain and Area : MDA)
ที่มา
ด้วยพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีปัจจุบัน ได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมอย่างสิ้นเชิง อันส่งผลทำให้องค์กรและภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการและการดำเนินธุรกิจอย่างพลิกโฉม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้สร้างโอกาสและความท้าทายให้กับทุกองค์กรในการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานและสร้างผลงานที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจ
สำหรับองค์กรภาครัฐซึ่งเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ ถูกเร่งรัดให้พัฒนาการบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ (Citizen-Driven) พัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ รวมทั้งดำเนินงานบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยการจัดระบบองค์กรให้มีความทันสมัย มีลักษณะเปิดกว้าง เชื่อมโยงถึงกัน กะทัดรัด (Open and Connected Government) และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ดังที่ปรากฏในยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่กำหนดประเด็นการพัฒนาภาครัฐให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาประเทศ และพัฒนาและปรับระบบวิธีการปฏิบัติราชการให้ทันสมัย ประกอบกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 ฉบับ ได้กำหนดแผนแม่บทประเด็นการบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ โดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดในระยะแรก (ภายในปี พ.ศ. 2565) คือ ภาครัฐมีขีดสมรรถนะสูงเทียบเท่ามาตรฐานสากลและมีความคล่องตัว โดยภาครัฐในภาพรวมต้องมีวุฒิภาวะด้านดิจิทัลตาม Digital Government Maturity Model (Gartner) ระดับ 2 และหน่วยงานที่บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างสูงตามเป้าหมายดังกล่าวต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90
เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการร่วมกัน คือ “การปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล” (Digital Government Transformation) ด้วยการพัฒนาความพร้อมของบุคลากร (People) การปรับเปลี่ยนกระบวนงาน (Process) และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับยุคสมัยเข้ามาปรับใช้ (Technology) โดยในระยะเริ่มต้น ส่วนราชการควรวิเคราะห์และระบุทิศทางเป้าหมายของการปรับเปลี่ยนองค์กรเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ชัดเจน (To be) และควรประเมินความพร้อมและพัฒนาการด้านดิจิทัลขององค์กร (As is) เพื่อประโยชน์ในการวางกลยุทธ์การปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการและการทำงานของรัฐให้เกิดความสมดุล เป็น “ภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม” อย่างแท้จริง
ในการนี้ สำนักงาน ก.พ. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล มาประมวลและจัดทำเป็น “แบบสำรวจระดับความพร้อมและวุฒิภาวะขององค์กรในการพัฒนาไปสู่รัฐบาลดิจิทัล” (Digital Government Maturity Domain and Area : MDA) เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ (Learning Material) สำหรับหน่วยงานภาครัฐในการวิเคราะห์และสำรวจความพร้อมขององค์กรในการพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลด้วยตนเอง โดยได้นำระดับวุฒิภาวะด้านดิจิทัลตาม Digital Government Maturity Model (Gartner) มาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเครื่องมือดังกล่าว ด้วย
วุฒิภาวะการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล
ในการพัฒนาหน่วยงานของรัฐตามวุฒิภาวะด้านดิจิทัลตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำรายละเอียดระดับวุฒิภาวะหน่วยงานภาครัฐเป้าหมายสำหรับการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในระยะการพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลเปิดและเชื่อมโยง (Developing stage) และระยะต่อเนื่อง โดยได้เชื่อมโยงแนวทางการพัฒนากระบวนงาน (Process) และเทคโนโลยี (Technology) ขององค์กร กับการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (People) ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 กันยายน 2560 เรื่อง ร่างแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล และตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 เมษายน 2562 รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์เพื่อการไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์
วุฒิภาวะเป้าหมายจำแนกระดับพัฒนาการขององค์กร ออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนระยะเริ่มแรก (Pre-Early) ระยะเริ่มแรก (Early) ระยะกำลังพัฒนา (Developing) และระยะสมบูรณ์ (Mature) ตามภาพด้านล่าง
แบบสำรวจระดับความพร้อมและวุฒิภาวะขององค์กรในการพัฒนาไปสู่รัฐบาลดิจิทัล
1. วัตถุประสงค์
เพื่อให้มีแนวทางและวิธีการปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัลอ้างอิง สำหรับใช้ในการพัฒนาบริการและระบบบริหารงานภาครัฐให้ทัน (ตรง) สมัย เป็นภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม และพัฒนาภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลเชื่อมโยงเสมือนเป็นองค์กรเดียวและเปิดภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นร่วมสร้างนวัตกรรมการบริการและการทำงานให้กับชุมชน สังคม และประเทศ โดยมีภาครัฐเป็นฐาน (Platform) การต่อยอดการสร้างคุณค่าร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
2. ประโยชน์ที่ได้รับ
2.1 ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับหลักการ แนวทาง และวิธีการปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัลอ้างอิง
2.2 ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ ทีมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และผู้ที่เกี่ยวข้อง มีเครื่องมือช่วย (Tool Kit) วิเคราะห์ระดับความพร้อมและวุฒิภาวะขององค์กร รวมทั้งมีข้อแนะนำเบื้องต้น (How to) สำหรับการวางแผน กำหนดแนวทาง และพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
2.3 หน่วยงานของรัฐ สามารถระบุระดับความพร้อมและพัฒนาการด้านดิจิทัลขององค์กร และมีแนวทางอ้างอิงในการพัฒนาองค์กรให้เกิดความสมดุล
2.4 ข้าราชการ บุคลากรภาครัฐและผู้ที่สนใจ มีสารสนเทศอ้างอิงเพื่อการศึกษาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล
3. โครงสร้างของแบบสำรวจ
ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ดังนี้
ส่วนที่ 1 ข้อมูลการตอบแบบประเมิน
ส่วนที่ 2 ข้อมูลหน่วยงาน
ส่วนที่ 3 ความคิดเห็นของหน่วยงานในการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล
ส่วนที่ 4 มิติและปัจจัยในการวัดระดับความพร้อมและวุฒิภาวะขององค์กรในการพัฒนาไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ตามภาพด้านล่าง
ดาวน์โหลดเอกสาร คลิกที่นี่ หรือรูปภาพด้านล่าง